หลักการและเหตุผล
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบฯ ข้อ 8 (1) จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เห็นชอบในหลักการ ร่าง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยในระยะแรก มุ่งเน้นการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการจัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และมีมติให้ฝ่ายเลขานุการ คทช. ทบทวน ร่าง ยุทธศาสตร์ฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ก่อนนำเสนอ คทช. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยกองบริหารจัดการที่ดิน) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คทช. ได้มีการศึกษา ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เป็นไปตามนัยมติที่ประชุม คทช. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่เห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการที่ดิน ภายใต้ คทช. เสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คทช. จึงได้มีการจัดทำ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไปสู่การปฏิบัติ” เพื่อให้ได้แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน อันจะทำให้ ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ สามารถนำไปสู่การจัดวางพื้นฐานระบบการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน รวมทั้งสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามระบบการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างบูรณาการ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
บริษัท เทสโก้ จำกัด ได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไปสู่การปฏิบัติ ตามสัญญาเลขที่ 21/2560 ลงวันที่ 23 มกราคม 2560
วัตถุประสงค์โครงการ
1) เพื่อให้ได้แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน ในลักษณะบูรณาการ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
2) เพื่อสร้างการรับรู้ของสาธารณะต่อ ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน
เป้าหมาย
1) แผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในลักษณะบูรณาการ ภายใต้ ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
2) ข้อเสนอแนะ กลไกการขับเคลื่อนและผลักดัน ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่เป็นรูปธรรม
ขอบเขตการดำเนินงาน
1) ศึกษา ทบทวน นโยบาย และแผนด้านที่ดินและทรัพยากรดิน รวมทั้งแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและระดับหน่วยงาน ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....ที่ผ่านความเห็นชอบการออกเสียงประชามติ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) (ร่าง) นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 (ร่าง) แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2564 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ รวมทั้งนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
2) เสนอกรอบแนวคิด วิธีการศึกษา ขอบเขต รูปแบบ ขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลาและแผนการดำเนินงานโดยละเอียด
3) ทบทวนสถานการณ์ปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินในประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับที่ดินและทรัพยากรดิน ในช่วงระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560 - 2579) รวมทั้งทบทวนภารกิจการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินและทรัพยากรดิน
4) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาสถานการณ์ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ จำนวน 1 ครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน
5) วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความสอดคล้องของ ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ สถานการณ์ประเด็นปัญหาที่สำคัญด้านที่ดินและทรัพยากรดิน และภารกิจการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้จากผลตามข้อ 5.1 - 5.4 ตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อนำมาจัดทำแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564)
6) นำผลที่ได้มาจากข้อ 5.5 มายก ร่าง แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ(พ.ศ. 2560 - 2564) ประกอบด้วย แนวคิด หลักการ วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ และกลไกในการขับเคลื่อน ผลักดัน และติดตามประเมินผลแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็นระยะเร่งด่วนและระยะปานกลาง
7) นำเสนอเครื่องมือ รูปแบบ ตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ ในการนำแผนไปสู่การขับเคลื่อน โดยการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
8) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินและทรัพยากรดินต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน โดยกำหนดการจัดประชุมไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 คน
9) นำผลที่ได้จากข้อ 5.7 และ 5.8 มาพิจารณายก ร่าง แผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี รายละเอียดประกอบด้วย หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด หน่วยงานรับผิดชอบ หน่วยงานสนับสนุนโครงการ/กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ กลไกในการขับเคลื่อน ผลักดัน และติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน
10) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) และ ร่าง แผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ในระยะเร่งด่วน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านที่ดินและทรัพยากรดิน จำนวน 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 120 คน
11) ประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมตามข้อ 5.8 เพื่อนำมาปรับปรุง ร่าง แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) และ ร่าง แผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของแผน
12) จัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ได้แก่ แผ่นพับ ฉากนิทรรศการแบบพับได้ (Pop Up) และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของกองบริหารจัดการที่ดินและเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
ระยะเวลาดำเนินงาน
ระยะเวลาดำเนินงาน จำนวน 240 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา (23 มกราคม 2560)